วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 7

กูเกิลแอปส์” นวัตกรรมการศึกษายุคใหม่แบบอี-เลิร์นนิ่ง
สถาบันการศึกษาหลายแห่งต่างพากันหันมาเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อยกระดับมาตรฐาน การศึกษาและพัฒนาการเรียนการสอนให้เข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์มากขึ้น รวมถึงปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาในสถาบันของตน เพื่อมุ่งผลิตกำลังของชาติให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในสาขาวิชาต่างๆ โดยให้เป็นผู้รอบรู้และรู้รอบมากขึ้นด้วยการผสมผสานความก้าวล้ำนำสมัยของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาในกระบวนการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับนักเรียนนักศึกษาแบบไร้พรมแดนโดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมาช่วย ซึ่งเรียกว่าเป็นการเรียนแบบอี-เลิร์นนิ่ง
มีผู้ให้คำจำกัดความของคำว่า “อี-เลิร์นนิ่ง (eLearning)” มากมาย ขอยกตัวอย่างสมาคมสโลน (Sloan Consortium) ได้ให้คำจำกัดความของ “การเรียนแบบอี-เลิร์นนิ่งหรือแบบออนไลน์ (eLearning/Online)” ว่าเป็นการเรียนการสอนที่ใช้อินเทอร์เน็ตร้อยละ 80-100 โดยนำเสนอเนื้อหาทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดทางออนไลน์หรือทางอินเทอร์เน็ต และอาจจะไม่มีการเรียนการสอนโดยใช้การบรรยายในห้องเรียนเลย อนึ่ง การนำเสนอเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตนั้นก็มีสื่อออนไลน์มากมาย ที่อาจารย์สามารถนำไปใช้ผลิตสื่อการสอนออนไลน์ได้อย่างสะดวกและนักศึกษาก็สามารถใช้สื่อออนไลน์ที่มีอยู่ในอินเทอร์เน็ตเข้าถึงสื่อการเรียนและติดต่อสื่อสารกับอาจารย์และเพื่อนๆ ได้อย่างสะดวกเช่นกัน ตลอดวันละ 24 ชั่วโมง และสัปดาห์ละ 7 วัน มีเครื่องมือและสื่อออนไลน์มากมายที่สามารถนำไปบูรณาการกับการเรียนการสอนแบบอี-เลิร์นนิ่งได้ อาทิ เครื่องมือช่วยค้นหา อีเมล์ วิดีโอออนไลน์ โทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต การส่งข้อความแบบทันที วิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ แอลเอ็มเอส และกระดานสนทนา เป็นต้น ในแง่ของเครื่องมือช่วยค้นหานั้นเป็นเครื่องมือออนไลน์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกโดยอันดับที่หนึ่งคือ “กูเกิล” อนึ่ง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ สวนลุมพินี
กรุงเทพมหานคร ผู้เขียนได้เข้าเฝ้าถวายการต้อนรับและได้ฟังกระแสพระราชดำรัสตอนหนึ่งสรุปได้ว่า สมัยนี้อยากหาข้อมูลด้านอะไรก็ไปหาจาก “พระอาจารย์กู” ซึ่งหมายถึง “กูเกิล (www.google.com)” นั่นเอง
นอกจากบริการเว็บช่วยค้นหาแล้ว กูเกิลก็มิได้หยุดยั้งที่จะพัฒนาบริการอื่นๆ ออกมาให้บริการเช่นกัน ทั้งนี้ การที่กูเกิลเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอย่างมากมายนั้นจะสังเกตเห็นได้ว่า กูเกิลใช้กลยุทธ์อย่างหนึ่งเข้าไปตีตลาดเว็บช่วยค้นหา นั่นคือ กลยุทธ์การพัฒนาบริการที่แตกต่าง (Differentiation) โดยกูเกิลมักจะมีบริการใหม่ๆ ออกมาเป็นระยะๆ ในขณะที่คู่แข่งรายอื่นยังไม่มีบริการนั้นๆ ล่าสุดเมื่อ 9 มิถุนายน 2552 กูเกิลก็ได้เปิดตัวบริการ “กูเกิลแอปส์ (Google Apps)” ซึ่งเป็นบริการการประยุกต์ใช้กูเกิลในงานต่างๆ รวมถึงงานด้านการศึกษา สำหรับบริการของกูเกิลแอปส์นั้น มีสามแบบ แบบแรกคือ กูเกิลแอปส์สแตนดาร์ดเอดิชั่น (Google Apps Standard Edition) เป็นบริการให้ใช้ฟรีสำหรับธุรกิจ ชมรม และองค์กรต่างๆ แบบที่สองคือกูเกิลแอปส์พรีเมียร์เอดิชั่น (Google Apps Premier Edition) เหมาะสำหรับการใช้งานในภาคธุรกิจทุกประเภทแต่เป็นบริการแบบจ่ายค่าบริการประมาณ 50 เหรียญ หรือประมาณ 1,700 บาทต่อปี และแบบที่สามคือ กูเกิลแอปส์เอ็ดดูเคชั่นเอดิชั่น (Google Apps Education Edition) เป็นบริการให้ใช้ฟรีสำหรับสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ไม่หวังผลกำไร ซึ่งใช้งานง่ายโดยไม่ต้องลงโปรแกรม สามารถตั้งชื่อโดเมนเนมของตนเอง ใช้นามแฝง และตั้งกลุ่มผู้ใช้เองได้ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อสื่อสารกันได้แบบเรียลไทม์และช่วยลดต้นทุนด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้กับสถาบันการศึกษาอีกด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า กูเกิลแอปส์เป็นสื่อการเรียนการสอนอย่างหนึ่ง
ในอี-เลิร์นนิ่งที่ทำให้การเรียนการสอนยุคใหม่นั้นไม่จำกัดผู้เรียนให้อยู่เฉพาะในห้องเรียนอีกต่อไปเพราะสามารถเชื่อมโยงผู้เรียนไปยังบริการของกูเกิลแอปส์ผ่านคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ในการเข้าถึงเนื้อหาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในเรื่องที่ตนกำลังศึกษาอยู่กับผู้คนทั่วโลกก็จะทำให้นักศึกษามีมุมมองและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลขึ้น
สำหรับกูเกิลแอปส์เอ็ดดูเคชั่นเอดิชั่นนั้น กูเกิลอาจจะอนุญาตให้ผู้ใช้รายอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนเรียนแต่เป็นอาสาสมัครหรือพนักงานของหน่วยงานที่ไม่หวังผลกำไรใช้บริการโฆษณาฟรีได้ และมีพื้นที่ให้เก็บข้อมูลมากกว่า 7 กิกะไบต์ มีตัวอย่างบริการของกูเกิลแอปส์ อาทิ จีเมล์ (Gmail) กูเกิลทอล์ก (Google Talk) กูเกิลคาเลนเดอร์ (Google Calendar) และกูเกิลดอคส์ (Google Docs) เป็นต้น สำหรับ “จีเมล์” นั้นเป็นบริการอีเมล์ฟรีของกูเกิลซึ่งรองรับการใช้งานกว่า 50 ภาษารวมทั้งภาษาไทยซึ่งช่วยสนับสนุนผู้เรียนในการส่งจดหมายและแฟ้มงานต่างๆ ส่วน“กูเกิลทอล์ก” เป็นบริการส่งข้อความแบบทันทีและโทรศัพท์อินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้เรียนสามารถติดต่อสื่อสารกับเพื่อนและอาจารย์ได้อย่างสะดวก ในแง่ของ “กูเกิลคาเลนเดอร์” เป็นบริการปฏิทินออนไลน์ที่ใช้จัดการ วางแผนงาน ประชุม และจัดทำปฏิทินการศึกษา เป็นต้น และ “กูเกิลดอคส์” เป็นบริการเอกสารออนไลน์ที่ให้ผู้เรียนจัดทำรายงานและแก้ไขเอกสารต่างๆ ได้ตามเวลาจริง อาทิ ใช้โปรแกรมไมโครซอฟท์ออฟฟิศทำรายงาน เป็นต้น
มีตัวอย่างมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ (University of Portsmouth) ในสหราชอาณาจักร ได้นำกูเกิลแอปส์ไปใช้ในการสอนนักศึกษาจาก 17 ประเทศ ประมาณ 30,000 คน โดยนักศึกษาแต่ละคนจะมีบัญชีผู้ใช้งานกูเกิลแอปส์ นักศึกษาสามารถติดต่อสื่อสารกันผ่านอินเทอร์เน็ตได้โดยสะดวกไม่ว่าจะอยู่กันคนละแห่งหนใดในโลกก็ตาม อาทิ สนทนากับอาจารย์และเพื่อน และแบ่งปันแฟ้มเอกสาร เป็นต้น ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วยังสามารถใช้บัญชีผู้ใช้งานกูเกิลแอปส์เดิมได้เพื่อเข้าถึงหรือสร้างเครือข่ายสังคมร่วมกับเพื่อนในสถาบัน โดยจะส่งเสริมในเรื่องการให้ความร่วมมือและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างนักศึกษากับเพื่อนและรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว อาทิ รุ่นพี่อาจจะเข้าไปแนะนำการหางานให้กับรุ่นน้องหรือบัณฑิตที่จบใหม่ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยที่วิทยาลัยการศึกษาทางไกลอินเทอร์เน็ตแห่งมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญก็เป็นแห่งแรกของไทยที่เปิดหลักสูตรแบบอีเลิร์นนิ่งเต็มรูปแบบตามคำจำกัดความของสมาคมสโลนโดยให้อาจารย์และนักศึกษาติดต่อสื่อสารกันทางสื่อที่มีอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต อาทิ ใช้สไกป์ ใช้วิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ใช้อีเมล์ และใช้กระดานสนทนา เป็นต้น รวมถึงการรับสมัครก็ทำผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งหมด นอกจากนี้ก็มีการนำซอฟต์แวร์ฟรีคือ มูเดิล ไปพัฒนาต่อจนได้ซอฟต์แวร์จัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยเองขึ้นมาชื่อว่า “เอสซีไอทีพลัส (SCITplus)”ในแง่ของการใช้บริการกูเกิลนั้น มีตัวอย่างเช่น ใช้กูเกิลค้นคว้าหาข้อมูลในการศึกษาหาความรู้และทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาและถ้าเป็นบทความต่างๆ ก็อาจค้นหาโดยใช้กูเกิลสกอลาร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามสถาบันการศึกษาในไทยทั้งหลายก็ควรหันไปสนใจการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตไปใช้ในการเรียนการสอนอย่างอี-เลิร์นนิ่งแล้วนำสื่อต่างๆ ที่มีอยู่ในอินเทอร์เน็ต อย่างเช่น กูเกิลแอปส์ ไปพิจารณานำไปใช้ร่วมกับการเรียนการสอนในระบบการศึกษาไทยเพื่อต่อยอดให้เยาวชนคนไทยทั้งหลายก้าวล้ำนำสมัยในระบบการศึกษายุคใหม่

ทีมา http://www.telecomjournal.net/index.php?option=com_content&task=view&id=2518&Itemid=39

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น